เด็กน้อยนักเรียน

เด็กน้อยนักเรียน
เด็กๆกับวัยเรียนรู้

วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

ลักษณะความสัมพันธ์กับระหว่างอยุธยากับประเทศเพื่อนบ้าน

ลักษณะความสัมพันธ์กับระหว่างอยุธยากับประเทศเพื่อนบ้าน
จำนวน ๕ ประเทศ


                กรุงศรีอยุธยามีชื่อเดิมที่ปรากฏในเอกสารชั้นต้นที่เป็นศิลาจารึกและตำนานบางเรื่องว่า "กรุงอโยธยา" ซึ่งเป็นการนำชื่อเมืองของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์มาใช้ ชื่อกรุงอโยธยาคงจะถูกเปลี่ยนเป็นกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นชื่อที่รู้จักกันทั่วไปในปัจจุบันนี้ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งอยู่ในระยะเวลาตอนปลายของสมัยกรุงศรีอยุธยา อันเป็นสมัยที่หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับที่เก่าที่สุดเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ ได้รับการเขียนและคัดลอกกันต่อๆ มา เป็นต้นฉบับตัวเขียนที่เก็บอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ หนังสือพงศาวดารฉบับนี้ก็ได้กล่าวถึงเมืองที่มีชื่อว่า กรุงศรีอยุธยา เอาไว้ด้วย คนรุ่นหลังจึงได้เรียกชื่อนี้กันต่อมาจนถึงปัจจุบัน
                ความเป็นมาของกรุงศรีอยุธยานั้นปรากฏเป็นเรื่องที่เล่าสืบทอดกันในลักษณะของตำนาน โดยเฉพาะตำนานเรื่องท้าวอู่ทอง จะมีอยู่หลายตำนานและปรากฏในหลายท้องที่ ตำนานท้าวอู่ทองบางเรื่องกล่าวถึงความเกี่ยวข้องกับดินแดนแถบจังหวัดกำแพงเพชร บางเรื่องปรากฏเป็นตำนานของบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางในจังหวัดสุพรรณบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เมืองนครศรีธรรมราชก็มีตำนานที่เล่าถึงท้าวอู่ทองกับพระยาศรีธรรมาโศกราช ที่ตกลงรวมดินแดนนครศรีธรรมราชเข้ากับกรุงอโยธยาก่อนเวลาการสถาปนากรุงศรีอยุธยาในหนังสือพระราชพงศาวดาร ตำนานบางเรื่องในหนังสือพงศาวดารเหนือที่รวบรวมจดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวถึงการเป็นเมืองที่มีความสืบเนื่องมาจากเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองที่เก่าแก่ และมีเครือข่ายที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากหลักฐานด้านโบราณคดีว่า มีความเกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรขอมกัมพูชา

ความสัมพันธ์กับต่างประ เทศสมัยกรุงศรีอยุธยา
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศสมัยกรุงศรีอยุธยา มี ๓ กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ ๑ ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน มีทั้งลักษณะเป็นไมตรีกันและมีความขัดแย้งจนทำสงครามต่อกันผสมผสานกันไปตามสถานการณ์
กลุ่มที่ ๒ ความสัมพันธ์กับจีนและญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองในเอเซีย
กลุ่มที่ ๓  ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกที่เริ่มเข้ามาสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ลักษณะความสัมพันธ์และบทบาทของชาวตะวันตกแต่ละชาติ มีรูปแบบแตกต่างกันออกไป รวมทั้งมีเหตุการณ์ความขัดแย้งกันเองระหว่างชาติตะวันตกและระหว่างกรุงศรีอยุธยากับชาติตะวันตกที่เกิดขึ้นหลายรูปแบบ เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์เสื่อมคลายลงในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน  จำนวน ๕ ประเทศ
ประเทศเพี่อนบ้าน หมายถึง ประเทศหรืออาณาจักรที่มีอาณาเขตติดต่อกับอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ ทิศเหนือติดต่อกับล้านนาไทย ทิศตะวันออก ติดต่อกับอาณาจักรกัมพูชา ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับอาณาจักรล้านช้างหรือ ศรีสัตนาคนหุต (ปัจจุบันคือประเทศลาว) ทิศตะวันตกติดต่อกับอาณาจักรพม่าและดินแดนมอญ
ความสัมพันธ์กับประเทศเพี่อนบ้าน มี ๒ ลักษณะคือ ลักษณะแรกมีไมตรีต่อกัน ติดต่อค้าขาย รับวัฒนธรรมกันและกัน รวมทั้งความสัมพันธ์ในลักษณะหัวเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา ลักษณะที่ ๒ ความขัดแย้ง เป็นศัตรูกัน เนื่องจากพรมแดนติดต่อกันจึงเกิดปัญหาการเมืองและผลประโยชน์ขัดกันกลายเป็นสงครามยืดเยื้อ ความสัมพันธ์ ๒ ลักษณะนี้ปะปนกันไปและเปลี่ยนแปรไปตามยุคสมัย

ความสัมพันธ์กับประเทศจีน
ความสัมพันธ์กับจีน เป็นลักษณะแลกเปลี่ยนการทูต แฝงด้วยระบบบรรณาการ (Tributary relation) หรือเจิงกุงซึ่งไทยมักอ่านว่า จิ้มก้อง จีนและกรุงศรีอยุธยามีวัตถุประสงค์ในการส่งทูตไปหากันไม่เหมือนกัน จีนมองประเทศทั้งหลายในเอเชียในลักษณะเป็นประเทศราช โดยจีนถือว่าจีนเป็นแหล่งอารยธรรมในเอเชียตะวันออก มีอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ เป็นประดุจอาณาจักรกลาง (จุงกั๊ว) ดินแดนต่าง ๆ ที่ล้อมรอบด้อยกว่า จึงต้องมาสวามิภักดิ์ยอมรับอำนาจความเป็นเจ้าประเทศราช โดยต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายจักรพรรดิจีน จึงจะมีสิทธิติดต่อกับจีนได้ และจีนก็จะให้การตอบแทนโดยให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การคุ้มครองทางการเมือง ดังนั้นการมีสัมพันธไมตรีกับจีนโดยการส่งของขวัญไปยังจีน จีนจะถือว่าเป็นการส่งเครื่องราชบรรณาการเป็นการยอมรับอำนาจเหนือกว่าของจีน ในขณะที่กรุงศรีอยุธยาติดต่อเพื่อไมตรี และผลประโยชน์ทางการค้าเป็นส่วนสำคัญมากกว่าจะเป็นเมืองขึ้นจีน

ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างไทยกับจีน มีมาแล้วตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยตรงกับช่วงราชวงศ์หยวน (Yuan พ.ศ. ๑๘๒๒-๑๙๑๑ ) พระเจ้ากุบไลข่านส่งคณะทูตมากรุงสุโขทัย พ.ศ. ๑๘๒๕ แต่มาไม่ถึงเพราะเมื่อเรือแล่นผ่านรัฐจามปาได้ถูกพวกจามจับฆ่า พ.ศ. ๑๘๓๖ คณะทูตที่สองมาถึงกรุงสุโขทัยเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและอัญเชิญพระราชสาสน์ของจักรพรรดิจีน ที่มีคำท้วงติงตักเตือนมิให้อาณาจักรสุโขทัยคุกคามดินแดนของพระเจ้าอู่ทอง ที่จีนเรียกกรุงศรีอยุธยาว่า หลอหู ซึ่งพระเจ้าอู่ทองได้ส่งคณะทูตไปขอความช่วยเหลือจากจีน ด้วยเกรงอำนาจสุโขทัยและปรากฏว่าใน พ.ศ. ๑๘๓๖ นี้เอง อยุธยาได้อ่อนน้อมต่อ สุโขทัย
พ.ศ. ๑๘๓๗ ทูตจีนมาสุโขทัยเป็นครั้งที่ ๓ พร้อมกับอัญเชิญพระบรมราชโองการจักรพรรดิจีน ที่ทูลเชิญพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือผู้แทนพระองค์เสด็จไปจีน และส่งมาอีกครั้งพ.ศ. ๑๘๓๘ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและตักเตือนการที่สุโขทัยรุกรานมลายู อาณาจักรสุโขทัยได้ส่งทูตไปเมืองจีนรวม ๘ ครั้ง คือ ใน พ.ศ. ๑๘๓๗ ๑๘๓๘ ๑๘๔๐ ๑๘๔๒ ๑๘๔๓ ๑๘๕๗ ๑๘๖๑ และ ๑๘๖๕ ความสัมพันธ์สมัยนี้มุ่งผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นหลัก แต่มีผลทำให้การค้าของทั้งสองเจริญขึ้นโดยสุโขทัยได้แบบอย่างการทำเครื่องสังคโลกจากจีน มีการค้ากันแต่เป็นลักษณะการค้าเอกชน คือ มีพ่อค้าชาวจีนเดินทางเข้ามาค้าขายแต่ยังไม่มีการติดต่อค้าขายเป็นทางราชการต่อกัน
การติดต่อกับจีนหยุดชะงักลงหลังจาก พ.ศ. ๑๘๖๖ ที่อาณาจักรสุโขทัยเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว หลังสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เส้นทางทางบกออกอ่าวไทยที่คณะทูตเคยใช้เดินทางไปจีนตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา พร้อมกันนี้อำนาจของจีนราชวงศ์หยวนก็เสื่อมลงด้วย สถานการณ์ในจีนไม่มั่นคงเเละไม่ปลอดภัยสำหรับคณะทูต
สมัยกรุงศรีอยุธยา จีนเปลี่ยนราชวงศ์มาเป็นราชวงศ์หมิง (พ.ศ.๑๙๑๑-๒๑๘๗) ส่วนกรุงศรีอยุธยาซึ่งสถาปนาใน พ.ศ. ๑๘๙๓ กำลังอยู่ระหว่างก่อร่างสร้างตัวความสัมพันธ์จึงหยุดชะงักไปเกือบ ๒๐ ปี จนกระทั่ง พ.ศ. ๑๙๑๓ จีนส่งทูตมากรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) เพื่อให้ส่งเครื่องราชบรรณาการ ทางกรุงศรีอยุธยาจึงส่งทูตอัญเชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปจีน พ.ศ. ๑๙๑๔ ลักษณะความสัมพันธ์ถือได้ว่าเจริญรอยตามแบบสมัยสุโขทัย และยังมีปัจจัยที่ทำให้ทรงสนพระทัยจีน ประการแรกทรงมีนโยบายจะมีอำนาจเหนืออาณาจักรสุโขทัย การติดต่อกับจีนจะเป็นหนทางกันจีนไม่ให้มาแทรกแซงช่วยสุโขทัยได้ ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากส่งทูตไปจีน พ.ศ. ๑๙๑๔ แล้วทรงยกกองทัพไปตีสุโขทัยทันที ประการที่ ๒ พ่อค้าเอกชนที่ทำการค้ากับจีนนี้เป็นที่รู้กันทั่วว่าค้าได้กำไรอย่างงาม ทำให้ทรงต้องการได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้ระบบการทูตบรรณาการ ประการที่ ๓ ทรงต้องการได้รับการยอมรับจากจีนเพราะทรงครองราชย์โดยการช่วงชิงราชบัลลังก์ จึงทรงเกรงว่าจีนจะไม่ยอมรับและอาจงดให้สิทธิพิเศษทางด้านเศรษฐกิจ
ปัจจัยประการที่ ๓ นี้ มีผู้ไม่เห็นด้วย โดยเชื่อว่าความมั่นคงของราชบัลลังก์ ไม่ว่าทางการเมืองหรือการทหารของกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ไม่มีผลโดยตรงต่อการที่จีนจะยอมรับพระองค์หรือไม่ เพราะพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาไม่ว่าจะขึ้นครองราชย์โดยชอบธรรมหรือไม่ก็ตาม เมื่อราชบัลลังก์มั่นคงแล้วจึงจะส่งทูตไปจีนขอการยอมรับจากจีน เรียกว่าเป็นธรรมเนียมเพื่อยืนยันฐานะของพระมหากษัตริย์ที่ครองอยู่ขณะนั้นและเป็นเงื่อนไขที่ต้องกระทำ ก่อนจะได้รับสิทธิพิเศษทางเศรษฐกิจ และจีนไม่เคยแทรกแซงปัญหาการสืบราชบัลลังก์ของกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นการที่ทรงพยายามมีสัมพันธ์กับจีนก็เพราะทรงให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจมากกว่าการเมือง
ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาได้ส่งคณะทูตไปจนถึง ๘๙ ครั้ง จีนส่งทูตมา ๑๘ ครั้ง สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พระมหากษัตริย์ทรงสนพระทัยผลกำไรจากสิทธิพิเศษต่าง ๆ และทรงตระหนักว่า สินค้าจีนเป็นที่ต้องการมากในตลาดของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทรงสามารถขายสินค้าจีนได้ในราคาสูง นอกจากนั้นพระองค์ทรงพอใจในคุณภาพและคุณค่าของสินค้าจีน ซึ่งได้รับเป็นของขวัญจากจักรพรรดิจีน ความจริงแล้วการที่คณะทูตเดินทางไปจีนบ่อย ๆ ต้นสมัยราชวงศ์หมิงนั้น มีผลทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนของพระราชทานในระดับที่เท่าเทียมกันบ่อย ๆ นับเป็นธุรกิจการค้าในขั้นเริ่มต้นและยิ่งมีคณะทูตจากกรุงศรีอยุธยาไปจีนมากเท่าไหร่คณะทูตก็ยิ่งเกี่ยวข้องกับการค้าขายมากขึ้น เป็นไปได้ว่าระยะแรก คณะทูตกรุงศรีอยุธยาอาจนำผลผลิตบางอย่างของกรุงศรีอยุธยาหรือของต่างประเทศไปกำนัลขุนนางจีน หรือขายให้จีนเพื่อผลกำไรส่วนตัว แล้วซื้อสินค้าจีนกลับมากรุงศรีอยุธยามาขายได้กำไรสูงมาก วิธีดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดความสนใจค้าขายกับจีนเพิ่มมากขึ้น เเละพ่อค้าจีนในกรุงศรีอยุธยาอาจชักนำให้พระมหากษัตริย์มีบทบาทในการค้ากับจีนมากขึ้น
สมัยต้นราชวงศ์หมิง การค้ากับจีนทำได้เฉพาะในรูปบรรณาการเท่านั้น ดังนั้นชาวจีนที่รับใช้พระมหากษัตริย์ในฐานะผู้นำเรือสำเภาหลวงไปค้าขาย ก็สามารถติดต่อธุรกิจของตนเองภายใต้กฎข้อบังคับของการค้าแบบบรรณาการด้วย การส่งคณะทูตบรรณาการ และการติดต่อค้าขายกับจีน พระมหากษัตริย์ทรงให้ชาวจีนที่ตั้งหลักแหล่งในกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะคนกรุงศรีอยุธยาไม่สามารถทางด้านนี้ ชาวจีนจึงมีบทบาทในฐานะผู้ควบคุมและบทบาทในการค้าต่างประเทศของกรุงศรีอยุธยาเป็นส่วนใหญ่ และตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา
สินค้าประเภทของป่าส่งไปขายในจีนจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ซื้อสินค้าจากจีนกลับมาในปริมาณสูง แล้วส่งไปขายยังดินแดนอื่น ๆ กรุงศรีอยุธยาจึงเป็นเมืองท่าสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นศูนย์กลางการค้าของป่าและการส่งผ่านสินค้าจีนไปยังดินแดนอื่นตลอดพุทธศตวรรษที่ ๒๐ กรุงศรีอยุธยาส่งทูตไปจีนมากที่สุด รายการสิ่งของบรรณาการมีถึง ๔๔ประเภท มากกว่าชาติใด เป็นของป่า เช่น ไม้หอมสีทอง ไม้หอมสีเงิน ไม้ฝาง ไม้แก่นดำ งาช้าง หรดาล (แร่ขนิดหนึ่งใช้เขียนลายรดน้ำและสมุดดำ) กระวาน ช้าง นกยูง พริกไทย นกแก้วห้าสี กฤษณา กานพลู และหลอฮก (เครื่องยามีกลิ่นหอมคล้ายกฤษณา)
ความสัมพันธ์ทางการค้าดำเนินไปด้วยดี จักรพรรดิจีนคือ พระเจ้าหงหวู่ผู้เริ่มใช้ระบบหนังสือเดินทาง (Tally system) ได้พระราชทานหนังสือเดินทางแก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรแรกและ พ.ศ. ๑๙๓๔ ยังได้พระราชทานเครื่องชั่ง ตวง วัด แก่กรุงศรีอยุธยาอีกด้วย ทำให้สินค้าของทั้งสองอาณาจักรใช้ระบบการชั่ง ตวง วัดมาตรฐานเดียวกันแต่นั้นมา ขณะเดียวกันทางกรุงศรีอยุธยาก็ให้อภิสิทธิ์บางอย่างแก่จีน เพื่อดึงดูดใจให้มาค้าขาย เช่น ลดหย่อนอัตราภาษีขาเข้าให้พ่อค้าจีนจ่ายเพียง ๑๒ ชัก ๒ ขณะที่พ่อค้าชาติอื่นจ่ายถึง ๙ ชัก ๒ กรุงศรีอยุธยากับจีนมีความสัมพันธ์ทางเครษฐกิจแน่นแฟ้น จากรายงานพ่อค้าต่างชาติในช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ถึงกับระบุว่า ?สยามทำการค้ากับจีนเป็นอย่างมาก? ในกรุงศรีอยุธยามีชาวจีนตั้งถิ่นฐานหลายแห่ง ที่เป็นปึกแผ่นคือ หลังวัดสามม้าในไก่ และประตูจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ตลาดสวนพลู คลองปากข้าวสาร คลองถนนตาล บ้านดินแดง และเกาะพระความสัมพันธ์กับจีนดำเนินไปไปด้วยดี ชาวจีนในเมืองอยู่ปกติสุข นอกจากทำการค้าแล้วเมื่อใกล้จะเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๓๑๐ ชาวจีนส่วนหนึ่งเป็นกำลังของพระยาตากในการต่อสู้กับพม่า
ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างกรุงศรีอยุธยากับประเทศจีน จีนพยายามรักษาบทบาทความเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองดินแดนต่าง ๆ ในเอเชีย ส่วนกรุงศรีอยุธยามีนโยบายแผ่ขยายอำนาจไปเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ปัญหาสำคัญคือเรื่องเมืองมะละกา มะละกาพึ่งพาจีนเพื่อเป็นเกราะปัองกันตน จากการคุกคามของกรุงศรีอยุธยา จักรพรรดิจีนมีพระราชสาสน์มาเตือนกรุงศรีอยุธยาในพ.ศ.๑๙๔๗ ว่า มะละกา สุมาตรา และจามปา ร้องเรียนไปยังจีนว่าถูกกรุงศรีอยุธยารุกราน จึงเตือนมิให้กรุงศรีอยุธยากระทำการดังกล่าวอีก ต่อมากรุงศรีอยุธยาได้มีพระราชสาสน์ขออภัยที่กระทำเช่นนั้น แต่คำเตือนของจีนน่าจะไม่ใช่เรื่องจริงจังหรือมีผลอะไรนัก เพราะความขัดแย้งที่กรุงศรีอยุธยามีต่อดินแดนทั้งสามยังคงดำเนินต่อไป และจีนมิเคยใช้กำลังเข้าขู่บังคับแต่ประการใด เหตุการณ์เกิดขี้นอีกใน พ.ศ. ๑๙๕๐ ๑๙๕๙ ๑๙๖๒ และ๑๙๗๔ ทุกครั้งจักรพรรดิจีนจะมีพระราชสาสน์ขอให้กรุงศรีอยุธยาเลิกรุกรานจนกระทั่งพ.ศ. ๑๙๙๘ กรุงศรีอยุธยาได้ปกครองมะละกาชั่วระยะสั้น ๆ จากนั้นมะละก็เป็นอิสระอีก
กรุงศรีอยุธยาคงพยายามควบคุมมะละกาให้อยู่ใต้อำนาจโดยส่งกำลังไปปราบ แต่ไม่สามารถควบคุมมะละกาให้อยู่ใต้อำนาจได้อย่างถาวร จนมะละกาตกเป็นของโปรตุเกส


ความสัมพันธ์กับประเทศญี่ปุ่น
ความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นมีมาแล้วตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย เพราะดินแดนไทยปัจจุบัน อยู่ในเส้นทางจาริกแสวงบุญของพระสงฆ์ญี่ปุ่นผู้เดินทางไปศึกษาธรรมเนียมในอินเดียและจีน สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีเอกสารของญี่ปุ่นกล่าวถึงเรือสินค้าไทยที่คณะทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนและได้แวะท่าเรือญี่ปุ่น ด้วยมีการกล่าวถึงโจรสลัดญี่ปุ่นเรียกว่า วาโก้ ออกปล้นสะดมแถบมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ บางครั้งตั้งถิ่นฐานทำการค้าในอาณาจักรต่าง ๆ แถบน่านน้ำดังกล่าว สลัดวาโก้ เป็นผู้นำด้วยชามสังคโลก จากสุโขทัยไปเผยแพร่ในญี่ปุ่น โดยมีพ่อค้าจีนและดัตช์เป็นสื่อกลาง
สมัยกรุงศรีอยุธยา ประวัติศาสตร์ของจีนและญี่ปุ่นบันทึกไว้ทำให้ทราบว่า มีผู้แทนฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเดินทางไปญี่ปุ่น พ.ศ. ๑๙๓๑ ต่อมาพ.ศ. ๑๙๔๑ มีเรือสินค้าไทยเดินทางมาแวะค้าขายที่โอกินาวาในหมู่เกาะริวกิว ใช้เวลาเดินทาง ๔๐ วัน บรรทุกสินค้าประเภทหนังสัตว์ สุรา ไม้จันทน์ น้ำตาล จากกรุงศรีอยุธยามาขาย มีผู้คนสนใจซี้อกันมาก สมัยโชกุนฮิเดโยชิมี หลักฐานว่า พ.ศ. ๒๑๓๕ เรือสินค้าญี่ปุ่นเดินทางมาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาที่นครศรีธรรมราช ปัตตานี และพ.ศ. ๒๑๔๗ พ่อค้าจากญี่ปุ่นได้รับอนุญาตจากโชกุนอิเยยาสุให้ตั้งภูมิลำเนาในกรุงศรีอยุธยาได้
ปัจจัยแรกที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นอพยพเข้ามาอยู่ไนกรุงศรีอยุธยากันมากขึ้น เพราะเกิดสงครามเซกิงาฮาระ นักรบญี่ปุ่นจำนวนมากที่นายเสียชีวิต จึงไม่มีมูลนายต่อไป เรียกพวกนี้ว่า โรนิน ได้พากันลงเรือหนีออกมาจากญี่ปุ่น มาอยู่ในอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาที่เมืองอยุธยา เพชรบุรี ปัตตานี และนครศรีธรรมราช ส่วนใหญ่ทำการค้าและสมัครเป็นกองอาสาญี่ปุ่นอยู่ในกองทัพกรุงศรีอยุธยาด้วย ปัจจัยประการต่อไปคือ รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายต่อต้านศาสนาคริสต์ เพราะเกรงการคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตก ญี่ปุ่นจึงปิดประเทศ ทำให้ชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์หนีออกนอกประเทศ เข้ามาตั้งถิ่นฐานตามประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาด้วย โดยอยู่เป็นหมู่บ้านทำการค้าและรับราชการ เช่น ยามาดะ นางามาซะ ดำรงยศสูงสุดเป็นออกญาเสนาภิมุข สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
ต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ทหารอาสาญี่ปุ่นก่อความไม่สงบ เพราะไม่พอใจที่ "ออกญากรมนายไว" ผู้บังคับบัญชาของญี่ปุ่นมีความผิดถูกตัดสินประหารชีวิต พวกนี้ได้บุกเข้าไปที่พระบรมหาราชวัง ในที่สุดตกลงกันได้โดยให้ทหารญี่ปุ่นเหล่านี้ออกไปจากกรุงศรีอยุธยา เหตุการณ์ดังกล่าวมิได้กระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับญี่ปุ่น ในกรุงศรีอยุธยายังมีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้ส่งทูตติดต่อกับญี่ปุ่นพร้อมพระราชสาสน์และเครื่องบรรณาการไปให้โชกุน แจ้งให้ทราบว่า กรุงศรีอยุธยายินดีต้อนรับและอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่พ่อค้าชาวญี่ปุ่น การค้าสมัยนี้จึงเจริญมากทั้งไทยยังได้เปรียบดุลการค้าญี่ปุ่นอีกด้วย ญี่ปุ่นต้องการสินค้าหลายอย่าง เช่น หนังกวางซึ่งไทยส่งออกปีละประมาณ ๆ ๑๕๐,๐๐๐ ชิ้น ดีบุก น้ำตาล น้ำมันมะพร้าว ไม้แดง ทั้งยังเป็นคนกลางรับซื้อข้าวจากไทยไปขายหมู่เกาะชวาด้วย ส่วนสินค้าญี่ปุ่นที่นิยมในไทยมี ดาบซามูไร ตีจากเหล็กเนื้อดี ความสัมพันธ์เป็นไปด้วยดี โดยมีออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ) เป็นผู้ประสาน ทำให้การค้ากับญี่ปุ่นสะดวกขึ้น รวมทั้งการค้ากับประเทศใกล้เคียง แม้จะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของตนเองก็ตาม
สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีนโยบายต่อต้านชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นที่ทรงเกรงว่าจะเข้ามามีอำนาจอิทธิพลทางการเมืองคือ ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ) ที่มีทีท่าเป็นปฏิปักษ์และมีอำนาจทางการเมืองมาตั้งแต่ก่อนสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจะขึ้นครองราชย์ มูลเหตุดั้งเดิมมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมที่หัวเมืองฝ่ายใต้เกิดรบพุ่งกับชาวฮอลันดา ซึ่งตั้งหลักแเหล่งอยู่เมืองปัตตานีและเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงค์ (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) ผู้มีอำนาจและอิทธิพลมากขณะนั้น เสนอให้ส่งออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ) ไปปราบกบฏและจัดการเรื่องยุ่งเหยิงต่าง ๆ ให้เรียบร้อย จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหัวเรื่องใหญ่ และสำคัญทางใต้ของอาณาจักรศรีอยุธยา และเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่เป็นเจ้าเมืองนี้ ชาวญี่ปุ่นทั้งหลายพากันติดตามไปตั้งบ้านนรือนอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ออกญาเสนาภิมุข ยามาดะ นางามาซะ) มีอิทธิพลทางการเมืองมากถึงขนาดช่วยกำหนดและผลักดันผู้ที่จะเป็นรัชทายาทของพระเจ้าทรงธรรมได้ โดยร่วมมือกับเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์กำจัดรัชทายาทองค์ต่าง ๆ และยุวกษัตริย์อีกด้วย สุดท้ายปลงพระชนม์สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ แล้วเจ้าพระยากลาโหมขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง การกระทำครั้งหลังนี้ออกญาเสนาภิมุขไม่ชอบใจ เพราะธรรมเนียมญี่ปุ่นถือว่าไม่ถูกต้องที่สามัญชนจะขึ้นเป็นกษัตริย์ ตำแหน่งกษัตริย์หรือจักรพรรดิจะต้องสืบเชื้อสายกันต่อมาจาก พระราชวงศ์
ความบาดหมางดังกล่าวทำให้สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงหาทางกำจัดอิทธิพล ต่อมาไม่นาน ออกญาเสนาภิมุขไปปราบกบฏที่เมืองปัตตานีได้รับบาดเจ็บที่ขา กล่าวกันว่าเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนเดิม ใช้ให้คนแอบใส่ยาพิษในบาดแผล ออกญาเสนาภิมุขจึงถึงแก่กรรม ใน พ.ศ.๒๑๗๓ บุตรชายชื่อ โชอิน ขณะนั้นดำรงยศเป็นออกขุนเสนาภิมุข ตั้งตนเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชต่อมา แล้วจับเจ้าเมืองคนเดิมประหารชีวิต ชาวเมืองนครศรีธรรมราชพากันโกรธแค้นญี่ปุ่นจนเกิดจลาจลกันขึ้น ชาวญี่ปุ่นเห็นไม่ปลอดภัยจึงหนีไปอยู่กัมพูชา ต่อมาออกขุนเสนาภิมุขถึงแก่กรรมที่กัมพูชา เพราะช่วยกษัตริย์กัมพูชาปราบกบฎ ในกรุงศรีอยุธยาต่อมา พ.ศ. ๒๑๗๕ หมู่บ้านญี่ปุ่นถูกไฟไหม้เข้าใจว่าเป็นการวางเพลิง มีการยิงปืนเข้าไปในหมู่บ้านด้วยชาวญี่ปุ่นจึงพากันหนีออกนอกประเทศกันเป็นส่วนใหญ่
การที่ชาวญี่ปุ่นอพยพออกนอกประเทศเช่นนี้ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงคิดได้ภายหลังว่ากรุงศรีอยุธยาได้เปรียบการค้าญี่ปุน จึงทรงพยายามฟื้นฟูไมตรีกับประเทศญี่ปุ่น โดยส่งทูตไปญี่ปุ่นรวม ๔ ครั้งด้วยกันตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๗๗ ถึง พ.ศ. ๒๑๙๘ โชกุนโตกูกาวะไม่ยินดีต้อนรับ เพราะรังเกียจวิธีการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จึงให้ตอบตัดรอนอย่างเผ็ดร้อนมาด้วย ทำให้ไม่สามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์กันได้
สมัยสมเด็จเจ้าฟ้าชัย (๒๑๙๘-๒๑๙๙) ทรงพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นอีก แต่ไม่สำเร็จ โดยญี่ปุ่นอ้างว่าได้ออกพระราชกฤษฎีกาห้ามชาวญี่ปุ่นออกนอกประเทศและไม่มีนโยบายการค้าต่างประเทศ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพยายามอีกแต่ไม่สำเร็จ กระนั้นก็ยังมีชาวญี่ปุ่นประมาณ ๔๐ คนที่หลงเหลืออยู่ในกรุงศรีอยุธยาช่วยพระองค์ชิงราชบัลลังก์จากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา นอกจากนั้นทหารรักษาพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็มีที่เป็นชาวญี่ปุ่นด้วย
สรุปได้ว่า หลังสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ญี่ปุ่นหมดบทบาท หมู่บ้านชาวญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ชานเมืองรอบนอกทางทิศใต้บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในกรุงศรีอยุธยายังคงมีชาวญี่ปุ่นหลงเหลืออยู่บ้าง ในที่สุดได้ผสมกลมกลืนไปจนหมดสิ้นในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นเอง


ความสัมพันธ์กับล้านนาไทย
สมัยกรุงศรีอยุธยา ล้านนาไทยมีสถานภาพเป็นอาณาจักรที่มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่บริเวณภาคเหนือของไทย ๗ จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน เชียงราย แพร่ น่านและแม่ฮ่องสอน รวมบางส่วนทางตะวันตกของประเทศลาวและส่วนหนึ่งของประเทศพม่าซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินตอนเหนือ
พ่อขุนมังรายผู้สร้างเมืองหิรัญนครเงินยาง ผู้สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับอาณาจักรล้านนาไทย โดยรวมแคว้นต่าง ๆ ทางภาคเหนือเข้าด้วยกัน แล้วขยายอาณาเขตต่อโดยเข้าครอบครองหริภุญชัย (ปัจจุบันคือลำพูน) ในพ.ศ. ๑๘๒๔ และ พ.ศ. ๑๘๓๙ สร้างเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนาไทยชื่อว่า ?เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่? มีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรสุโขทัยโดยเฉพาะพ่อขุนรามคำเเหงมหาราช เมื่ออาณาจักรกรุงศรีอยุธยาก่อตั้งขึ้นมา มีความเข้มแข็งขึ้นจนรวมอาณาจักรสุโขทัยเข้าด้วยกัน อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาจึงเป็นอาณาจักรใหญ่ทางใต้ควบคู่กับอาณาจักรล้านนาไทยทางเหนือและอาณาเขตของอาณาจักรทั้งสองก็ติดต่อกัน ความสัมพันธ์ต่อกันไม่ดีนัก เพราะกรุงศรีอยุธยามุ่งขยายอาณาเขตขึ้นไปทางเหนือเพื่อยึดล้านนาไทยเป็นประเทศราช การที่กรุงศรีอยุธยามุ่งแผ่ขยายอำนาจขึ้นมาเพราะปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจคือ ล้านนาไทยเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ด้วยสินค้าประเภทของป่าที่กรุงศรีอยุธยาต้องการเพื่อไปขายต่อให้ตลาดในประเทศจีนเเละที่อื่น ๆ ทางด้านการเมืองกรุงศรีอยุธยาเกรงว่าล้านนาไทยจะแผ่ขยายอำนาจเข้ามาในสุโขทัย แล้วใช้สุโขทัยเป็นฐานที่มั่นเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาจึงต้องเป็นฝ่ายแผ่อำนาจขึ้นมายังล้านนาไทยก่อนเพื่อความมั่นคงของราชอาณาจักร นอกจากนั้นความเชื่อในเรื่องจักรพรรดิราชมีส่วนสำคัญในการที่กรุงศรีอยุธยาแผ่อำนาจด้วย ส่วนอาณาจักรพม่าก็มีความประสงค์เช่นเดียวกันจึงเกิดการช่วงชิงกันระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่า ทำให้ล้านนาไทย ซึ่งมิได้เข้มแข็งมากนักเพราะมีความแตกแยกภายใน บางครั้งเมืองต่าง ๆ ก็แยกเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน เกิดความอ่อนแอจึงต้องใช้นโยบายเหยียบเรือสองแคมระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่ามาตลอด
ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับล้านนาไทย จึงเป็นลักษณะทำสงครามเป็นส่วนใหญ่และตลอดมา กรุงศรีอยุธยามักเป็นฝ่ายขยายอิทธิพลขึ้นไปมากกว่าล้านนาไทยจะยกมารุกรานกรุงศรีอยุธยา จะมีก็น้อยครั้งมากเช่นสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาไทยที่ตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นสงครามยืดเยื้อหลายปีเป็นปัจจัย ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จไปประทับที่เมืองพิษณุโลกและสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ล้านนาไทยยกมารุกรานกรุงศรีอยุธยาอีกหลายครั้ง ทำให้ต้องสนพระทัยควบคุมหัวเมืองทางเหนือให้เข้มแข็งขึ้นโดยแต่งตั้งให้พระมหาอุปราช หรือข้าราชการผู้ใหญ่ไปครองเมืองพิษณุโลกเพื่อควบคุมหัวเมืองฝ่ายเหนือ สงครามระหวางกรุงศรีอยุธยากับล้านนาไทยเกิดขึ้นหลาย ครั้ง ดังนี้
สงครามครั้งแรก พ.ศ. ๑๙๒๙ เนื่องจากพระเจ้ากือนาสวรรคต เกิดการจลาจลแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างเจ้าแสนเมืองมา พระราชโอรสกับเจ้ามหาพรหมพระอนุชาของพระเจ้ากือนา เจ้ามหาพรหมพ่ายแพ้หนีมาขอความช่วยเหลือยังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว ๑๙๑๓-๑๙๓๑ ) ทรงเห็นเป็นโอกาสดีที่จะขยายอำนาจไปยังล้านนาไทยจึงเสด็จยกทัพขึ้นไปตีล้านนาไทยเมี่อพ.ศ. ๑๙๒๙ ในหลักฐานกล่าวว่า ?ศักราช ๗๔๘ ขาลศก เสด็จไปเอาเมืองเชียงใหม่และให้เข้าปล้นเมืองนครลำภางมิได้ จึงแต่งหนังสือให้เข้าไปแก่หมื่นนครเจ้าเมืองนครลำภาง ๆ นั้นออกถวายบังคมและทัพหลวงเสด็จคืน?
สงครามครั้งต่อมาสมัยสมเด็จพระราเมศวรทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ.๑๙๓๓ พระเจ้าแสนเมืองมาเจ้าเมืองเชียงใหม่เสด็จหนีไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้นักสร้างราชบุตรของเจ้าแสนเมืองมาซึ่งยอมสวามิภักดึ์ด้วย ให้ครองเมืองใหม่ต่อไป แล้วทรงบั่นทอนกำลังของเมืองเชียงใหม่ โดยกวาดต้อนชาวเขียงใหม่ลงมากรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก
สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา พ.ศ. ๑๙๖๗-๑๙๙๑ ) เกิดสงครามขึ้นอีก สาเหตุจากท้าวลกราข บุตรองค์ที่ ๖ ของพระเจ้าสามฝั่งแกน เจ้าเมืองเชียงใหม่เข้าแย่งขิงราชบัลลังก์จากพระราชธิดา แล้วขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช (พระเจ้าติโลกราช) เจ้าเมืองฝางและเจ้าเมืองเทิงไม่ยอมรับ ลอบนำสาสน์ลงมาสวามิภักดิ์ ขอกำลังจากกรุงศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาจึงส่งกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ แต่พระเจ้าติโลกราชปราบเมืองเทิงได้ก่อน กองทัพกรุงศรีอยุธยาตีหัวเมืองรายทางได้จนถึงเมืองลำพูน แต่ยังตีไม่ได้ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่๒ ทรงพระประชวรต้องยกกองทัพกลับ ต่อมา พ.ศ. ๑๙๘๗ ยกทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้ง ตีไม่ได้ เพียงแต่กวาดต้อนผู้คนลงมาเป็นจำนวนมาก
สมัยพระเจ้าติโลกราช เป็นช่วงที่อาณาจักรล้านนาไทยเข้มแข็งมั่นคง จึงเป็นฝ่ายขยายอิทธิพลลงมาทางใต้ ประกอบกับทางกรุงศรีอยุธยาจัดการปกครองหัวเมืองทางเหนือไม่รัดกุม ขณะนั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑ ) ซึ่งได้ครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) เสด็จลงมาประทับที่กรุงศรีอยุธยาและยังมิได้ตั้งผู้ใดให้มีอำนาจสิทธิขาดทางหัวเมืองเหนือ เมืองต่าง ๆ ต่างก็ปกครองกันเอง ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยาทำให้บางเมืองคิดเป็นใหญ่ขึ้น เช่นใน พ.ศ. ๑๙๙๔ พระยายุธิษเฐียร เจ้าเมืองพิษณุโลกไปสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราช ยกกองทัพมาตีเมืองชากังราว (กำแพงเพชร)ได้ แล้วตีเมืองสุโขทัยแต่ดีไม่ได้ กระนั้นพระยายุธิษเฐียรก็ได้รับความชอบ ได้ครองเมืองพะเยา ต่อมาเมืองต่าง ๆ พากันเอาใจออกห่าง เช่น พ.ศ.๒๐๐๓ พระยารามแห่งเมืองเชลียง (สวรรคโลก) สวามิภักดิ์ต่อล้านนาไทย พ.ศ. ๒๐๐๔ พากองทัพพระเจ้าติโลกราชมาตีเมืองพิษณุโลกและกำแพงเพชรแต่ไม่สำเร็จ
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงเสด็จขึ้นไปประทับที่เมืองพิษณุโลก ใน พ.ศ. ๒๐๐๖ ส่วนทางกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรส คือ สมเด็จพระอินทรราชา ดำรงพระยศ เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ครองแทน สงครามกับล้านนาไทยเกิดขึ้นอีกหลายครั้งต่อมา เป็นเวลายี่สิบปีเศษ อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาสามารถยับยั้งการขยายอาณาเขตของล้านนาไทยได้ ดังนั้นอาณาจักรล้านนาไทยจึงคงมีอาณาเขตเท่าเดิม สงครามทำให้ล้านนาไทยอ่อนแอลงมากและเกิดเหตุวุ่นวายในเมืองเชียงใหม่ จึงขอสงบศึก เป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๐๑๘
สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ( พ.ศ. ๒๐๓๔-๒๐๗๒ ) ทรงประทับที่กรุงศรีอยุธยา พระเมืองแก้วกษัตริย์ล้านนาไทย ฉวยโอกาสยกทัพมาตีหัวเมืองเหนือหลายครั้ง สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ยกทัพไปรบที่เชียงใหม่ พ.ศ. ๒๐๕๘ ตีได้ลำปาง จากนั้นล้านนาไทยก็มิได้มารบกวนอีก จนสิ้นรัชกาล พระมหากษัตริย์องค์ต่อมามักควบคุมหัวเมืองเหนืออย่างใกล้ชิด โดยการแต่งตั้งพระมหาอุปราช หรือขุนนางผู้ใหญ่ไปครองเมืองพิษณุโลก
สมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช (พ.ศ. ๒๐๗๗-๒๐๘๙) เสด็จขึ้นไปทำสงคราม ๒ ครั้ง สาเหตุของสงครามมาจากความแตกแยกภายในอาณาจักรล้านนาไทย กลุ่มฝักใฝ่กรุงศรีอยุธยาได้ขอความช่วยเหลือมา การสงครามในพ.ศ. ๒๐๘๘ กรุงศรีอยุธยาตีได้เมืองลำพูนและเชียง ใหม่
เนื่องจากอาณาจักรล้านนาไทย ตั้งอยู่ระหว่างพม่ากับกรุงศรีอยุธยา ที่มุ่งหวังแผ่อิทธิพลเข้าครอบครอง ในช่วงที่ฝ่ายใดเข้มแข็งกว่าก็จะยกทัพมารุกรานล้านนาไทย เมื่อพม่าเข้มแข็งขึ้นในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง ขยายอาณาเขตกว้างขวาง ได้ดินแดนหัวเมืองมอญ ไทยใหญ่ และล้านนาไทยที่เป็นอิสระมานานก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าตั้งแด่ พ.ศ. ๒๑๐๒ เป็นต้นมาหลายครั้งที่ล้านนาไทยพยายามดิ้นรนเป็นอิสระ แต่อยู่ได้ไม่นาน พม่าก็เข้าครอบครองได้อีก
สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. ๒๑๓๓-๒๑๔๘) อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาเข้มแข็งมีอานุภาพมาก ล้านนาไทยจึงเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา โดยใน พ.ศ.๒๑๔๒ พระเจ้าเชียงใหม่ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายและถวายน้ำพิพัฒน์สัตยา แสดงถึงความจงรักภักดีอ่อนน้อมต่อกรุงศรีอยุธยา อันเป็นธรรมเนียมของเมืองประเทศราชพึงปฏิบัติ
สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. ๒๑๔๘-๒๑๕๓) พระเจ้าอังวะกษัตริย์พม่ายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ได้ แต่เนื่องจากมีเหตุการณ์ยุ่งยากทั้งกรุงศรีอยุธยาและพม่าจากการที่โปรตุเกสเข้ามาค้าขายด้วย ทำให้ทั้งกรุงศรีอยุธยาและพม่าทำสัญญาเป็นไมตรีกันใน พ.ศ. ๒๑๖๑ โดยกรุงศรีอยุธยา ยอมยกเมืองเมาะตะมะให้พม่า ส่วนพม่ายกเมืองเชียงใหม่ให้กรุงศรีอยุธยา แต่หัวเมืองอี่นยังเป็นของพม่า เช่น น่าน เชียงแสน ฝาง เป็นต้น พม่ามิได้ยึดถือคำมั่นสัญญานัก ต่อมายกทัพมาตีเชียงใหม่ไปได้
สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑ ) เสด็จยกทัพไปตีเชียงใหม่ได้ ในพ.ศ. ๒๒๐๕ ล้านนาไทยเป็นเมืองประเทศราชของไทยอยู่ ๑๐ ปี พม่ามาตีไปได้อีก ครั้งสุดท้ายตรงกับสมัยพระเจ้าอลองพญา ตีได้เชียงใหม่ พ.ศ. ๒๓๐๖ ล้านนาไทยจึงเป็นเมืองประเทศราชของพม่าตลอดมาจนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายหลังมาเป็นเมืองขึ้นของไทยสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
มอญ
อาณาจักรของมอญอยู่ทางใต้ของพม่า ดินแดนติดกับทะเลจึงมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งการเพาะปลูกและการค้า มีเมืองสำคัญ ๆ เช่น เมืองเมาะตะมะ เมืองหงสาวดี เมืองทวาย เมืองมะริดและเมืองตะนาวศรี เมืองสำคัญมาก คือ เมืองเมาะตะมะเป็นเมืองท่า สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อาณาจักรสุโขทัยรุ่งเรืองมาก อาณาจักรมอญมาสวามิภักดิ์ด้วย สมัยพระเจ้าฟัารั่ว (มะกะโทครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๓๙) เมืองเมาะตะมะเป็นแหล่งที่สุโขทัยอาศัยเป็นทางออกสู่ทะเลไปติดต่อค้าขายต่างประเทศ หลังสมัยพระเจ้าฟัารั่ว อาณาจักรมอญประกาศให้เป็นอิสระจากสุโขทัย สุโขทัยพยายามเข้ามามีอำนาจเหนือมอญ แต่ไม่สำเร็จจึงสูญเสียเมืองท่าเมาะตะมะบนเส้นทางการค้าด้านตะวันตก
อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาระยะแรกก่อตั้ง ได้พยายามมีอิทธิพลเหนืออาณาจักรมอญ เพื่อประโยชน์ในการส่งสินค้าต่าง ๆ ผ่านเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี ไปยังชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย โดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ และสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงเคยยกทัพไปตีหัวเมืองมอญ และได้เมืองเชียงกรานเป็นเมืองขึ้นของไทย ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้นมา พม่าสมัยราชวงศ์ตองอูเข้มแข็งมากได้พยายามแผ่อำนาจเข้าครอบครองมอญ เพื่อใช้เป็นแหล่งระบายสินค้าของพม่าตอนบนไปสู่มหาสมุทรอินเดีย ในที่สุด พ.ศ. ๒๐๘๒ พระเจ้าตะเบงชะเวตี้สามารถครอบครองดินแดนมอญได้หมด จากนั้นดินแดนมอญก็เป็นดินแดนช่วงชิงกันระหว่างพม่ากับกรุงศรีอยุธยา จนสิ้นสุดอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา

ความสัมพันธ์กับพม่า
ความสัมพันธ์กับพม่าส่วนใหญ่เป็นไปในรูปของความขัดแย้งกัน มีการทำสงครามตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีรวม ๒๔ครั้ง ส่วนใหญ่พม่าเป็นฝ่ายรุกราน กรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายตั้งรับ มีเพียงสองรัชกาลเท่านั้นที่กรุงศรีอยุธยามีโอกาสแต่งทัพไปรบถึงอาณาจักรพม่า คือสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สาเหตุของสงครามสรุปได้ ๒ ประการคือ ประการแรกมีสาเหตุมาจากอาณาจักรมอญและอาณาจักรล้านนาไทย ประการที่ ๒ ความมีฐานะเท่าเทียมกันจนเป็นคู่แข่งแย่งชิงความเป็นใหญ่
๑. ปัญหาอาณาจักรมอญและล้านนาไทย ถ้าศึกษาจากแผนที่จะพบว่า อาณาเขตทางทิศตะวันตกของกรุงศรีอยุธยามิได้ติดต่อกันกับดินแดนของพม่าโดยตรงทีเดียว แต่มีดินแดนของมอญกั้นอยู่ ส่วนทางเหนือมีอาณาจักรล้านนาไทยกั้นอยู่ ถัดเข้าไปอีกยังมีพวกไทยใหญ่อยู่ระหว่างพม่ากับล้านนาไทยอีกชั้นหนึ่งด้วย ดังนั้นสาเหตุสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่า มักจะสืบเนื่องมาจากการที่กรุงศรีอยุธยาหรือพม่าขยายอิทธิพลเข้าไปในดินแดนมอญหรือล้านนาไทย เมื่อได้ครอบครองแล้วทำให้เป็นฝ่ายได้เปรียบมีฐานทัพกำลังคนพร้อมเสบียงอาหาร สามารถโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งได้สะดวก สงครามจึงเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้
สาเหตุของสงครามครั้งแรก มอญเป็นต้นเหตุด้วยมินคยินโย กษัตริย์พม่าราชวงศ์ตองอูตั้งตนเป็นใหญ่แถบลุ่มแม่น้ำอิรวดีตอนบน มีเมืองตองอูเป็นราชธานี พ.ศ. ๒๐๒๙ แล้วได้ขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวางขึ้น โดยมีนโยบายจะเข้าครอบครองมอญบริเวณตอนล่างซึ่งมีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์และการค้าทางทะเล นโยบายนี้สำเร็จใน พ.ศ. ๒๐๘๑ สมัยพระราชโอรสคือ พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ชาวมอญอพยพหนีพม่าเข้ามาอยู่ที่เมืองเชียงกราน ซึ่งเป็นหัวเมืองมอญประเทศราชของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ทรงยกทัพติดตามมาถึงเมืองนี้ สมเด็จพระชัยราชาธิราชกษัตริย์แห่งกรุงครีอยุธยาจึงเสด็จยกทัพไปป้องกันเมืองเชียงกรานไว้ได้
สมัยพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง พม่าเข้มแข็งมากขยายอาณาเขต กว้างขวาง ครอบครองหัวเมืองมอญและไทยใหญ่ ได้อาณาจักรล้านนาไทยใน พ.ศ. ๒๑๐๑ จากความได้เปรียบนี้เองทำให้พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ยกทัพใหญ่เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราชได้ใน พ.ศ. ๒๑๑๒ กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นของพม่า ๑๕ ปี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพใน พ.ศ. ๒๑๒๗ จากนั้นได้เข้าครอบครองเมืองของมอญคือเมืองทวาย ตะนาวศรี โดยเฉพาะเมืองเมาะตะมะแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำ และเมืองท่าตลอดจนเป็นที่ตั้งฐานทัพ ชุมนุมไพร่พลเข้าตีพม่าได้เป็นอย่างดี ส่วนทางเหนือ เมืองเชียงใหม่ศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาไทยมาสวามิภักดิ์ด้วย รวมทั้งอาณาจักรล้านช้างและแคว้นไทยใหญ่ จากการได้ดินแดนต่าง ๆ เป็นปัจจัยสนับสนุนในการทำสงครามแผ่ขยายอาณาเขตไปยังพม่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงเป็นกษัตริย์องค์แรกแห่งกรุงศรีอยุธยาที่ทรงเข้าตีกรุงหงสาวดีของพม่าใน พ.ศ. ๒๑๓๘ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๑๔๒ และสวรรคตที่เมืองหางใน พ.ศ. ๒๑๔๘ ขณะเสด็จไปตีพม่าครั้งที่ ๓
หัวเมืองมอญและหัวเมืองของอาณาจักรล้านนาไทย จะผลัดเปลี่ยนกันขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาบ้าง พม่าบ้างแล้วแต่เหตุการณ์ จนถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พม่าแตกแยกกัน ทางกรุงศรีอยุธยาจึงถือโอกาสยกทัพไปตีเมืองเมาะตะมะซึ่งขึ้นกับพม่าขณะนั้น ต่อมาสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มอญรวมกำลังกันเข้าตีกรุงอังวะของพม่าได้ในพ.ศ. ๒๒๙๕ มอญเป็นอิสระตั้งตนเป็นใหญ่ได้ ๑๗ ปี ก็ตกอยู่ในอำนาจของพม่าและเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพม่าแต่นั้นมา ในช่วงนั้นกรุงศรีอยุธยาปลายราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีปัญหาการชิงราชบัลลังก์แทบทุกรัชกาล เกิดความแตกแยกภายใน อาณาจักรอ่อนแอ ในที่สุดเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐
๒. ความมีฐานะเท่าเทียมกันจนเป็นคู่แข่งแย่งชิงความเป็นใหญ่ ความมีฐานะเท่าเทียมกันมองได้ ๒ อย่างคือ ความมีอำนาจทางการเมืองของอาณาจักรและความสามารถของพระมหากษัตริย์ กรุงศรีอยุธยาและพม่ามี 2 อย่างนี้ ทำให้ทั้งกรุงศรีอยุธยาและพม่าอยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน จนเป็นคู่แข่งแย่งชิงความเป็นใหญ่ โดยเฉพาะพม่าต้องการเป็นใหญ่เหนือกรุงศรีอยุธยา เพราะการมีอำนาจเหนือกรุงศรีอยุธยาจะเป็นการข่มขู่เมืองขึ้นต่าง ๆของพม่ามิได้คิดแข็งข้อต่อพม่า ทั้ง ๆ ที่ลักษณะการขยายอาณาเขตจะไปคนละทาง คือไทยมักขยายอาณาเขตไปทางตะวันออก คือเขมรและลาว ส่วนพม่าขยายอาณาเขตไปทางอาณาจักรมอญ ล้านนาไทยและด้านข้าง ด้วยเหตุที่กรุงศรีอยุธยาและพม่ามีความยิ่งใหญ่เท่าเทียมกัน เป็นเหตุให้ทั้งสองกลายเป็นคู่แข่งโดยเฉพาะพม่าจะเป็นฝ่ายรุกก่อน โดยมีจุดประสงค์เพื่อความเป็นใหญ่ของพม่า จะเห็นได้ว่าเมี่อได้มองแล้วมักหาเหตุมาทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาเพื่อเป็นการเสริมพระเกียรติของกษัตริย์พม่า และสาเหตุสงครามกับพม่าแต่ละครั้ง มักจะมาจากสงครามครั้งก่อนๆ เสมอ
กษัตริย์ทั้งของกรุงศรีอยุธยาและพม่าต่างเป็นนักรบมีชื่อเสียงหลายพระองค์ เช่น พม่ามีพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง พระเจ้าอลองพญา พระเจ้ามังระ ส่วนทางกรุงศรีอยุธยา มี สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นต้น การมีกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ ทำให้มีการทำสงครามเพื่อความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเพื่อเสริมพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ นี่เอง


การทำสงครามระหว่างอาณาจักรกรุงศรีอยุธยากับอาณาจักรพม่า จึงเกิดขึ้นรวม ๒๔ ครั้ง ดังนี้
๑. พม่าตีเมืองเชียงกราน พ.ศ. ๒๐๘๑
๒. สมเด็จพระศรีสุริโยทัยขาดคอช้าง พ.ศ. ๒๐๙๑
๓. สงครามช้างเผือก พ.ศ. ๒๑๐๖
๔. สงครามเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๑๑๑-๒๑๑๒
๕. สงครามประกาศอิสรภาพ พ.ศ. ๒๑๒๗
๖. สงครามกับพระยาพะสิมที่เมืองสุพรรณ พ.ศ. ๒๑๒๗
๗. สงครามกับพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ พ.ศ. ๒๑๒๘
๘. สงครามพระเจ้าหงสาวดีล้อมกรุงศรีอยุธยา พ.ศ .๒๑๒๙
๙. ทัพพระมหาอุปราชายกมาครั้งแรก พ.ศ. ๒๑๓๓
๑๐. สงครามยุทธหัตถี พ.ศ. ๒๑๓๕
๑๑. ไทยตีเมืองทวาย-ตะนาวศรี พ.ศ. ๒๑๓๕
๑๒. สมเด็จพระนเรศวรมหาราชตีเมืองมอญ พ.ศ. ๒๑๓๗
๑๓. สมเด็จพระนเรศวรมหาราชตีหงสาวดี ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๑๓๘
๑๔. สมเด็จพระนเรศวรมหาราชตีหงสาวดี ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๑๔๒
๑๕. สงครามครั้งสุดท้ายของรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พ.ศ. ๒๑๔๗
๑๖. พม่าตีเมืองทวาย พ.ศ. ๒๑๕๖
๑๗. พม่าตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๑๕๗
๑๘. พม่าตีเมืองทวาย พ.ศ. ๒๑๖๕
๑๙. พม่าตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๒๐๕
๒๐. พม่าตีเมืองไทรโยค พ.ศ. ๒๒๐๖
๒๑. ไทยตีพม่า พ.ศ. ๒๒๐๗
๒๒. พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา พศ. ๒๓๐๒
๒๓. พม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ พ.ศ. ๒๓๐๗
๒๔. เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐
ลักษณะการทำสงคราม พม่าเป็นฝ่ายรุก กรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายรับ การเสียกรุงศรีอยุธยาทั้งสองครั้ง มิใช่เพราะชัยภูมิกรุงศรีอยุธยาไม่ดี แต่พ่ายแพ้พม่าเพราะเหตุอื่นโดยเฉพาะการแตกความสามัคคี ชิงดีชิงเด่นกัน และความเอาใจออกห่างของขุนนางชั้นสูงกรุงศรีอยุธยามีชัยภูมิเหมาะสำหรับการตั้งรับข้าศึกหลายประการ เช่น มีแม่น้ำล้อมรอบตัวเมืองทุกด้าน ทางเหนือมีแม่น้ำลพบุรี ทิศใต้ ทิศตะวันตกมีแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันออกมีแม่น้ำป่าสัก การรบสมัยก่อนใช้สัตว์พาหนะและเดินเท้า อาวุธส่วนมากเป็นลักษณะใช้ในระยะใกล้ประชิดตัว เช่น มีด ดาบ หอก ธนู ส่วนปืนใหญ่ใช้แพร่หลายเมื่อชาวตะวันตกเข้ามา แต่ไม่มากนัก การมีคูเมืองล้อมรอบย่อมเหมาะแก่ยุทธศาสตร์สมัยนั้น อีกทั้งกรุงศรีอยุธยาอยู่ในที่ลุ่ม น้ำมักท่วมที่ราบที่อยู่นอกตัวเมือง ในช่วงน้ำหลากประมาณเดือน ๘ ถึงเดือน ๑๑ ตัวเมืองอยู่ที่สูงกว่าน้ำไม่ท่วม สำหรับข้าศึกแล้วจะไม่สะดวกในการตั้งทัพเนิ่นนานออกไปนอกจากจะหากลวิธีหนีน้ำได้ จึงสามารถตั้งล้อมได้จนพ้นหน้าน้ำ นอกจากนั้นกรุงศรีอยุธยายังเหมาะตรงที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร จึงสามารถสะสมเสบียงอาหารไว้ในยามศึกได้จำนวนมากและนานพอที่จะปัองกันข้าศึกได้

ความสัมพันธ์กับกัมพูชา
เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ทางกัมพูชามีกษัตริย์ปกครองทรงพระนามว่าพระบรมนิพันธบท ทั้งสองอาณาจักรมีไมตรีอันดีต่อกัน ครั้นสิ้นรัชกาลพระบรมนิพันธบทถึงสมัยพระบรมลำพงราชา กัมพูชาได้แปรพักตร์ไปมีไมตรีกับอาณาจักรสุโขทัย สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) ด้วยสาเหตุที่ว่าเกรงกรุงศรีอยุธยาจะรุกรานกัมพูชา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) จึงโปรดเกล้าฯให้กองทัพกรุงศรีอยุธยาไปปราบกัมพูชา กลายเป็นสงครามต่อเนื่อง ความสัมพันธ์กับกัมพูชาสรุปได้ ๓ ประการ ดังนี้
๑. กรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายยกทัพไปรบกับกัมพูชา กัมพูชาแม้ว่าจะเคยเป็นอาณาจักรที่สำคัญในอดีตทั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษ ที่มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยฟูนาน เจนละ และสมัยพระนคร มีความก้าวหน้าทางศิลปวัฒนธรรม การเมือง การบริหาร การปกครองมาก่อนก็ตาม แต่ย่อมมียุคของความเสื่อม ดังจะเห็นว่าสมัยกรุงศรีอยุธยา กัมพูชาอ่อนแอไม่สามารถจะปกป้องตนเองได้ จนเกิดความเกรงกลัวกรุงศรีอยุธยาจะแผ่อำนาจเข้าครอบครองถึงกับไปฝักใฝ่กับอาณาจักรสุโขทัย เพราะคาดว่าจะช่วยได้ ความหวาดระแวงไม่ไว้ใจกันนี้ ทำให้สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดเกล้าฯ ให้พระราเมศวรราชโอรสไปปราบกัมพูชา แต่ทำไม่สำเร็จจึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุนหลวงพะงั่ว (ต่อมาคือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑) ยกไปตีได้สำเร็จ ได้นครธมเมืองหลวงของกัมพูชาใน พ.ศ. ๑๘๙๕ แต่กรุงศรีอยุธยาก็มิได้เข้าไปปกครองโดยตรงเยี่ยงหัวเมืองประเทศราช คงให้เชื้อพระวงศ์กัมพูชาปกครองต่อไป
สมัยสมเด็จพระราเมศวรครองกรุงศรีอยุธยา กัมพูชาไม่เชื่อถือในความสามารถ ได้เข้ามากวาดต้อนผู้คนตามชายแดนอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เช่น เมืองชลบุรี เมืองจันทบุรี ไปกัมพูชาจำนวนมากเมื่อ พ.ศ. ๑๙๓๖ และต่อมาก็ทำอีกในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) สมเด็จพระบรมราชาธิราที่ ๒ จึงเสด็จยกทัพไปปราบ พ.ศ. ๑๙๗๔ ล้อมนครธมนานถึง ๗ เดือน จึงตีได้ รวมทั้งได้นครวัดด้วย (เมืองดังกล่าวได้ถูกทำลายและทิ้งให้เป็นเมืองร้างต่อมาเกือบ ๕๐๐ ปี) โดยกัมพูชาย้ายราชธานีหลายครั้งเพื่อให้ไกลกรุงศรีอยุธยา เช่นไปอยู่เมืองบาสาณ ใน พ.ศ. ๑๙๗๔ ต่อมาน้ำท่วมจึงย้ายไปอยู่เมืองจตุรพักตร์ คือที่ตั้งพนมเปญปัจจุบัน พ.ศ. ๒๐๗๑ ไปอยู่เมืองละแวก กรุงศรีอยุธยาเข้าปกครองกัมพูชาในฐานะหัวเมืองประเทศราช ช่วงนี้กัมพูชาอ่อนกำลังลงมาก การจะตั้งตนเป็นอิสระหรือเป็นคู่แข่งท้าทายอำนาจกรุงศรีอยุธยาเช่นพม่ากระทำนั้น ยังมีขีดจำกัดอยู่มาก กัมพูชาจึงตกเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาตลอดมาจนถึงสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
๒. ลักษณะที่กัมพูชาถือโอกาสขณะกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอก่อความยุ่งยากให้ เช่น เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พ.ศ.๒๑๑๒ กัมพูชาได้ประกาศอิสรภาพแล้วยกกองทัพมากวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินตามชายแดนไป ครั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพจากพม่าใน พ.ศ. ๒๑๒๗ แล้ว นักพระสัฏฐากษัตริย์กัมพูชาเกรงภัย จึงแต่งทูตมาสวามิภักดิ์กับกรุงศรีอยุธยา แต่ครั้น พ.ศ. ๒๑๓๐ พม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา กัมพูชากลับละไมตรี ส่งทัพมาโจมตีเมืองปราจีนบุรีและนครนายก ดังนั้นเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสิ้นสุดสงครามยุทธหัตถีกับพม่าแล้ว พ.ศ. ๒๑๓๖ เสด็จยกทัพไปตีกัมพูชามาเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาตามเดิม
๓. ลักษณะที่กรุงศรีอยุธยาเข้าแทรกแซง เพราะเกิดจลาจลภายในกัมพูชาสมัยปลายของกรุงศรีอยุธยา ความสัมพันธ์กับกัมพูาเปลี่ยนแปลงไป เพราะมีญวนเข้ามาแทรกแทรงเนื่องจากกัมพูชาเกิดจราจลแย่งชิงอำนาจกันเองในหมู่เจ้านายและขุนนางกัมพูชาเสมอ ฝ่ายหนึ่งหันไปพึ่งญวน อีกฝ่ายมาขอความคุ้มครองจากกรุงศรีอยุธยา เหตุการณ์เช่นนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่นักองจันทร์กษัตริย์กัมพูชาวิวาทกับนักปทุมพระอนุชา นักปทุมไปขอให้ญวนยกทัพมาช่วยจนชิงราชบัลลังก์ได้ นักองจันทร์และข้าราชบริพารจึงอพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกรุงศรีอยุธยา ลักษณะเช่นนี้ จะดำเนินตลอดมา โดยกรุงศรีอยุธยาและญวนผลัดกันเข้าไปมีอิทธิพลในกัมพูชา จนเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า พ.ศ.๒๓๑๐ ลักษณะความสัมพันธ์กับกัมพูชาจะเห็นว่า มีทั้งลักษณะเป็นไมตรีต่อกัน เป็นเมืองประเทศราชและมีความขัดแย้งเป็นศัตรูกัน แต่ทว่าความสัมพันธ์ที่สำคัญยิ่งคือ ทางด้านขนบประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม กรุงศรีอยุธยาได้รับแบบอย่างลัทธิธรรมเนียมจากกัมพูชาหลายอย่าง เช่น รูปแบบการปกครอง ลัทธิเทวราช พระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ภาษาโดยเฉพาะราชาศัพท์ ทางด้านสถาปัตยกรรมการสร้างพระปรางค์ และพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ทรงตีเมืองนครธมได้ ได้กวาดต้อนชาวกัมพูชาเข้ามาตั้งหลักแหล่งในกรุงศรีอยุธยา เป็นการเพิ่มพูนกำลังคนเพื่อประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตการเกษตรและอื่นๆ ส่วนขุนนาง เชื้อพระวงศ์ และนักปราชญ์ผู้มีความรู้ได้เป็นกำลังสำคัญรับใช้ราชการ ตลอดจนเผยแพร่แนะนำรูปแบบการปกครองที่ปรับปรุงใหม่ สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และเมื่อตีกัมพูชาได้ใน พ.ศ. ๒๑๗๔ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงรับแบบสถาปัตยกรรมกัมพูชามาสร้างในกรุงศรีอยุธยา เช่นพระปรางค์องค์ใหญ่ที่วัดไชยวัฒนาราม พระนครหลวงที่ประทับฤดูร้อนริมแม่น้ำป่าสัก ซึ่งสร้างตามแบบปราสาทเมืองนครธมและสร้างพระที่นั่งไพยนต์เป็นต้น





อ้างอิง

http://www.oursiam.in.th/content/view.php?code=01021-1198659927-0158
http://sw4201social.exteen.com/20060208/entry-7/page/5

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ27 สิงหาคม 2560 เวลา 03:38

    ขอบคุณค่ะ ช่วยในการทำรายงานมากๆ

    ตอบลบ
  2. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  3. เว็บhttp://www.oursiam.in.th/content/view.php?code=01021-1198659927-0158เข้าไม่ได้แล้วครับ รบกวนขอเว็บอ้างอิงอื่นๆด้วยครับ

    ตอบลบ