เด็กน้อยนักเรียน

เด็กน้อยนักเรียน
เด็กๆกับวัยเรียนรู้

วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

เพลงกล่อมเด็กภาคใต้

เพลงกล่อมเด็กภาคใต้
เพลงโผกเปล
                    โผกเปลเหอ                            โผกไว้ช่อฟ้าปาขี้ลม
                    เทโวเทวาหกเจ็ดองค์                มาห่มรักน้องก้าไม่หวย
                    ลมพัดมาไม่โถกต้อง                 มาห่มรักน้องอยู่รวยรวย
                    ลมพัดไม่หวย                          ต้องด้วยความรัก..(เอ้อเหอ)..น้อง
                    ศัพท์ โผกเปล = ผูกเปล                ปาขี้ลม = ท่ามกลางหมู่เมฆ
                            ไม่หวย = ไม่หวั่นไหว          โถก = ถูก
             วิจารณ์  ความหมายของเพลงพื้นบ้านนับว่าลึกซึ้งยิ่ง กล่าวเป็นโวหารแบบกวีและความสำคัญคล้าย ๆ กับโคลงนิราศนรินทร์บทที่ว่า
                    โอ้ศรีเสาวลักษณ์ล้ำ                 แลโลม โลกเอย
                    แมัว่ามีกิ่งโพยม                       ยืนหล้า
                    แขนขวัญนุชชูโฉม                    แมกเมฆ ไว้แม่
                    กีดบ่มีกิ่งฟ้า                            ฝากน้องนางเดียว
                ความคิดในโคลงที่ว่าแม้มีกิ่งโพยม ยืนหล้า แขนขวัญนุชชูโฉม แมกเมฆ-ไว้แม่ตรงกับความคิดในเพลงกล่อมเด็กว่าโผกเปลเหอ โผกไว้ช่อฟ้าปาขี้ลม” เพราะผูกเปลในที่นี้หมายถึง ผูกรัก และ ปาขี้ลม   ก็หมายถึงหมู่เมฆ ต่างกันแต่ในเพลงกล่อมเด็กเปรียบโลดโผนกว่าในคำโคลง เพราะเพลงกล่อมเด็กได้เปรียบเพิ่มให้มีเทวาถึง ๗ ซึ่งหมายมีมากกว่า ๖ ชั้นฟ้าหรือมากกว่าเทวาในฉกามาวจรตามที่ในวรรณคดีไทยกล่าว ๆ กันไว้ และว่าถึงกระนั้นเทวดาเหล่านั้นก็ยังไม่มีอำนาจมาทำลายรบเร้าให้ความรักของน้องหวั่นไหวได้ ไขความ เพลงบทนี้อาจถอดความได้ดังนี้ ความรักที่มั่นคงของน้อง เปรียบเสมือน ผูกเปลไว้กับหมู่เมฆในห้วงอากาศอันสูงส่ง แม้จะมีเทวดาทั้งหกชั้นฟ้าเจ็ดชั้นฟ้ามารุมเร้ากลั่นแกล้งด้วยจงใจ รักน้องก็หาหวั่นไหวไม่ จะรักนาลสงวนงามไว้เพื่อพี่เพียงคนเดียว ลมปากทั้งปวงอย่าหมายว่าจะก่อให้ใจน้องต้องมลทินแม้แต่เพียงระคายผิว
               
เพลงลมพัด
                         ลมพัดเหอ                         พัดมาวอกแวก
                         อกน้องเหมือนจะแตก           ใครเลยจะเข้ามาล่วงโร้
                         ถ้าเป็นน้ำเต้าหรือขี้พร้า         จะเผาให้คนแลกันโฉโฉ
                         ใครเลยจะเข้ามาล่วงโร้         ในอกในทรวงน้อง..เอ้อ...เหอ
                         ศัพท์   โร้ = รู้   ขี้พร้า = ฟักเขียว   โฉโฉ = ฉาวโฉ่
               ไขความ   คำคนหนอคำคนช่างยังผลให้อารมณ์คนวอกแวกหวั่นไหวได้เหมือนสายลม อกน้องเหมือนจะแตกตาย (เกิดเป็นหญิงนี้ยากที่จะบอกความในใจกับใครได้) ใครเลยจะมาล่วงรู้ หากใจนี้สามารถผ่าให้คนดูได้เหมือนฟักเขียวหรือน้ำเต้าก็จะผ่าให้ดู แต่นี่ความรักมันอยู่ก้นลึกของหัวใจ จนใจแท้
               วิจารณ์ เพลงบทนี้นอกจากจะเปรียบเทียบง่ายแต่คมคายลึกซึ้ง แล้วยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่า หญิงไทยใต้นั้นต้องประหยัดทั้งเนื้อทั้งตัวและวาจา จะบอกฝากรักใครง่าย ๆ ไม่ได้ ลางทีแม้คำพูดจะเป็นเหตุให้กลัดกลุ้มปานอกจะแตกตายก็ต้องทน

เพลงปลูกมัน
                         ไปไหนเหอ                        พาน้องไปกัน
                         ถางไร่โปลกมัน                   มันไม่ลงหัว
                         แผ่นดินหมั่นดี                     แต่มันหมั่นชั่ว
                         มันไม่ลงหัว                        สาวย่านไห้วัว..เอ้อ..เหอ..กิน
               วิจารณ์ เพลงกล่อมเด็กบทนี้เปรียบเทียบแนวจิตวิทยาเกี่ยวกับนิสัยของคนว่า คนไม่ดีโดยนิสัยชั่วนั้นเหมือนพันธุ์มันที่ไม่ดี ไม่ว่าจะปลูกในที่ดินชนิดไหนย่อมไม่เกิดผล คือไม่ว่าคนนั้นจะไปอยู่ในสถานที่ใดในภาวะอย่างไรก็เอาดีไม่ได้ รังแต่จะตกเป็นอาหารของคนอื่นเหมือนมันที่ไม่ลงหัวนั้นในที่สุดก็ต้องสาวย่านถอนต้นให้เป็นอาหารของสัตว์                                       (สาวย่านให้วัวกิน)ไม่มีคุณต่อผู้ปลูกฝังชุบเลี้ยง ข้อความในวรรคที่ว่าไปไหนพาน้องไป กันนั้นเตือนให้คิดว่า คนนั้นไปไหนไม่ไปแต่ตัว แต่เอานิสัยตามตัวไปด้วยทุกแห่งหน
                        
เพลงนกเขียว
                         นกเขียวเหอ                       เกาะเรียวไม้พุก
                         พ่อแม่อยูหนุก                     โลกไปใช้นาย
                         ฝนตกฟ้าร้อง                      พ่อแม่เขาอยูหนุกบาย
                         โลกไปใช้นาย                     นั่งกินแต่น้ำตา
                         ศัพท์ ไม้พุก=ไม้ผุ   หนุก=สนุก   โลก=ลูก   ใช้นาย=เป็นทาสเขา           บาย=สบาย
               ไขความ เพลงกล่อมเด็กบทนี้สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมไทยในสมัยมีทาส พ่อแม่ที่ยากจนไม่อาจเลี้ยงลูกให้ได้รับความสุขได้ คำกล่าวที่ว่าพ่อแม่คือร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกก็กลายเป็นเหมือนเรียวไม้ผุไป ต้องขายลูกไปเป็นทาสเขา ลูกต้องทนรับกรรม ส่วนพ่อแม่กลับอยู่อย่างสนุกสนาน
               วิจารณ์ เพลงกล่อมเด็กบทนี้ถ้าจะประเมินคุณค่าทางวรรณศิลป์ ควรจัดว่ามีคุณค่าสูง เพราะมีโวหารเปรียบเทียบคมคาย ใช้โวหารสวมลักษณะของสิ่งหนึ่งให้กับอีกสิ่งหนึ่ง เปรียบนกเขียวกับลูกที่ยังต้องการพึ่งพ่อแม่ เปรียบ เกาะ กับการพึ่งพาอาศัย เปรียบเรียวไม้พุก
กับพ่อแม่ที่ลูกพึ่งพาไม่ได้ เปรียบ ฝนตกฟ้าร้อง กับความทุกข์ยากลำบากทั้งปวง นับว่าผู้แต่งใช้ธรรมชาติใกล้ตัวเป็นสัญลักษณ์ตามแบบฉบับของกวี ประสมกับบรรยากาสที่ชวนให้ผู้ฟังมีอารมณ์เศร้า ทิ้งข้อคิดให้เห็นสภาพความเหลื่อมล้ำของสังคมในสมัยนั้น ผู้แต่งเพลงบทนี้ได้ทำหน้าที่ของนักแต่งคือพูดแทนคนที่พูดไม่ได้
               

 เพลงขึ้นเหนือ
                         ขึ้นเหนือเหอ                      แลเรือเกยหาด
                         โปลกหลาตักบาตร               น้ำแห้งเห็นทราย
                         กุ้งกั้งแมงดา                       บินมาพลอยตาย
                         น้ำแห้งเห็นทราย                 พลอยตายด้วยเรือใหญ่
               ศัพท์ โปลกหลา=สร้างศาลา  
               ไขความ เพลงกล่อมเด็กบทนี้ เป็นบทที่มีความเชิงล้อเลียนสังคม กล่าวตำหนิ ผู้นำ หรือ เรือ” หรือ เรือใหญ่” (ตรงกับภาษากลางเรียกว่า หัวเรือใหญ่ ) ตำหนิผู้นำที่ทำอะไรนอกรีตนอกรอยผิดทำนองคลองธรรม แต่มักทำอะไรเอาหน้าให้คนอื่นหลงผิด คนพวกนี้เมื่อหมดอำนาจความชั่วก็จะปรากฏ (น้ำแห้งเห็นทราย) พวกผู้น้อยก็มักพลอยเสียหาย
               วิจารณ์ บทนี้มีโวหารและสัญลักษณ์แบบวรรณคดีเช่นเดียวกับบทแรก วิธีการเปรียบนับว่าแยบยล โดยปรกติเรือย่อมแล่นอยู่ในน้ำ แต่ในบทนี้เขียนเป็นเชิงเย้ยเยาะเรือที่แล่นบนบก ( เหนือ ของภาคใต้หมายถึงที่มีเขามีดอย ) อันเปรียบได้กับคนที่ประพฤติตนขัดกับประเพณีนิยมหรือฝืนจารีต ผลที่สุดมักไปจอดติดประจานให้คนตำหนิว่าเป็นคนทำอะไรขาดสติ
               คำเปรียบในบทนี้ยังเข้ากับสำนวนไทยเกือบทุกวรรคคือ “เรือในที่นี้หมายถึงผู้นำตรงกับ หัวเรือใหญ่” “โปลกหลาตักบาตรตรงกับสำนวนไทย ทำบุญเอาหน้า” “ น้ำแห้งเห็นทรายตรงกับสำนวนว่าน้ำลดตอผุด” “พวกแมงดาบินมาพลอยตายตรงกับสำนวนที่ว่า พวกพลอยฟ้าพลอยฝน” (เพราะแมงดามาพร้อมกับฝนแรก) นับว่าเพลงกล่อมเด็กบทนี้เป็นเหมือนผู้เตือนสติผู้นำและผู้ตามทั้งหลายให้ตระหนักว่าความชั่วที่แฝงปลอมมาในความดีนั้น จะมีค่าและคงอยู่ได้จริงหรือ
              
เพลงลูกสาว       
                         ลูกสาวเหอ                        โลกชาวเรินออก
                         หัวนมผึ้งออก                     บอกพ่อว่าเป็นฝี
                         พ่อแม่ไปหาหมอมารักษา      หมอว่าอ้ายยะเต็มที
                         บอกพ่อว่าเป็นฝี                  โลกสาวชาวเรินออก
              ศัพท์ โลกสาว=ลูกสาว    เรินออก=บ้านถัดไปทางทิศตะวันออก
              ไขความ เพลงบทนี้กล่าวถึงเด็กสาวที่ไม่เข้าใจการพัฒนาของร่าวกาย จึงหวาดกลัวเมื่อเห็นความผิดปรกติของร่างกาย
               วิจารณ์ ถ้าเราพิจารณาบทเพลงนี้อย่างลึกซึ้ง จะเห็นว่าชาวบ้านก็สนใจจิตวิทยา 
กับพัฒนาการวัยรุ่นมานานแล้ว คงจะได้ขบคิดถึงปัญหานี้เหมือนกันว่าการที่พ่อแม่ไม่ได้ แนะนำให้ลูกเข้าใจถึงความเจริญทางร่างกาย แต่กลับเห็นว่าการที่จะพูดถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าละอาย น่าเกลียดนั้น บางทีก็มีผลเสีย เพราะอาจจะทำให้เด็กแสดงออกในรูปอื่นที่น่าละอายกว่า แทนที่จะละอายกันเพียงในระหว่างพ่อแม่กับลูก กลับพาให้ต้องขายหน้าชาวบ้าน
               เพลงบทนี้จึงสะท้อนให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่และการเลี้ยงดูปกครองลูกสาวของชาวบ้านว่าเป็นอย่างไร คติอีกข้อหนึ่งที่ได้จากเพลงบทนี้คือ การแก้ปัญหาใด ๆ ควรแก้ให้ตรงจุด และควรสุขุมรอบคอบ มิฉะนั้นเรื่องเล็กก็จะพลอยเป็นเรื่องใหญ่ ใครที่เข้าใจก็อาจจะหัวเราะเยาะได้ ยิ่งผู้มีหน้าที่ปกครองคนด้วยแล้ว เมื่อผู้น้อยบอกเล่าอันใด ควรสอบถาม   สืบสาวหาเหตุผลก่อน เพราะบางทีเขาอาจจะทำให้เราพลอยอับอายได้
                        
เพลงดอกเมละ
                         ดอกเมละเหอ                     น้องคือนางดอกเมละ
                         บานเหมือนอี้เปละ               ลอยอยู่ในเลขี้ผึ้ง
                         ขนตกกะไม่ต้อง                  ฟ้าร้องกะไม่ถึง
                         ลอยอยู้ในเลขี้ผึ้ง                 สาวน้อยคำนึงใจ
               ศัพท์ ดอกเมละ=ดอกมะลิ   อี้เปละ=บานเต็มที่จวนจะร่วงหล่นแล้ว เล=ทะเล คำนี้ตัดมาจาก ชเล   ขนตก=ฝนตก
               ไขความ เพลงบทนี้กล่าวถึงจิตวิทยาวัยรุ่นอีกบทหนึ่ง พูดถึงอารมณ์ว้าเหว่ของเด็กสาวคราวมีประจำเดือน ไข่ในมดลูกกำลังสุกจวนหล่นเต็มอยู่ในมดลูก (ในเลขี้ผึ้ง) เมื่อเด็กมีความรูสึกทางเพศเต็มที่เพราะต่อมทางเพศกระตุ้นเตือน แต่ยังไม่ถึงคราว เพราะเรามีประเพณีวัฒนธรรมเป็นเครื่องครองใจไม่ให้ทำอะไรตามความต้องการของอารมณ์เบื้องต่ำ สาวน้อยผู้นี้จึงได้แต่ถวิลอยู่ในใจตามธรรมชาติของสัตว์โลกที่เจริญแล้ว
               วิจารณ์ การแสดงออกอันเกี่ยวกับเรื่องเพศ คนไทยยังถือกันว่าเป็นเรื่องน่าบัดสีไม่ควรกล่าวถึงทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านี้คือความจริงที่ทุกคนควรรู้ควรเข้าใจและเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตทางโลก ดังนั้นกวีไทยที่แสดงบทอัศจรรย์ก็ดี นักแต่งเพลงกล่อมเด็กชาวใต้ ก็ดี ต้องแสดงออกอย่างแนบเนียนโดยโวหาร ยกเอาสิ่งอื่นมาพูดแทนเทียบเคียง ผู้อ่านผู้ฟังต้องเข้าใจเอาเอง อันนี้เป็นวรรณศิลป์ที่ทุกคนจะเข้าใจและซาบซึ้งไม่เท่ากัน

เพลงรักนุช
                         รักนุชเหอ                          สิ้นสุดพี่รักเจ้าหนักหนา
                         เหมือนเจ้าอุณรุทธ์รักอุษา      นางสีดารักพระรามไม่คลายใจ
                         พระศรีสุธนทรงศักดิ์รักโนรา   เหมือนตัวของข้ารักเจ้าหน้าใย
                         ทำปรือนางเนื้อเย็นจะเห็นใจ  หกใสว่าพี่รักคนเอิน
                        
                         ศัพท์ ทำปรือ = ทำอย่างไร        หกใส่ = ใส่ความ
                                 คนเอิน = คนอื่น
             
              วิจารณ์ เพลงบทนี้มีกวีโวหารลักษณะกล่าวรำพันรักอย่างผู้มีภูมิ โดยนำเอาความรักของตัวละครเรื่องเอก ๆ มาอ้าง ลักษณะเช่นนี้หาอ่านได้แต่เฉพาะในวรรณคดีเรื่องเด่น ๆ เท่านั้น   อีกสิ่งหนึ่งที่เพลงบทนี้สะท้อนถึง คือแสดงว่าผู้แต่งเพลงกล่อมเด็กปักษ์ใต้สนใจงานของกวีและมีอารมณ์กวี เพลงกล่อมเด็กเกือบทุกบทจึงเจือลงด้วยอารมณ์และงามด้วยความคิดควรแก่การศึกษา

เพลงนางแม่
                         นางแม่เหอ                        ที่เลี้ยงโลกมารักษายาก
                         พอโลกตกฟาก                   บนควายเขาทอง
                         เดือนเสเดือนห้า                  โนรามาแก้เมลยน้อง
                         บนควายเขาทอง                 ให้ช่วยชีวิตโลก
               ศัพท์ เดือนเส= เดือนสี่                  แก้เมลย = แก้บน
               วิจารณ์ เพลงกล่อมเด็กบทนี้มีคุณค่าหลายด้านคือ
                . สะท้อนให้เห็นถึงภูมิธรรม คือชี้ให้เห็นความยากลำบากของแม่ที่เลี้ยงลูก และให้เห็นว่าแม่รักและห่วงลูกเพียงใด
                . สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องความเชื่อทางไสยศาสตร์ มีการนับถือทวยเทพ และต้องมีการบวงสรวง อันแสดงว่าความเชื่อตามแบบศาสนาพราหมณ์มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของชาวปักษ์ใต้
                  . สะท้อนให้เห็นว่าในระหว่างเดือนสี่เดือนห้านั้นเป็นเทศกาลที่ชาวใต้นิยมจัดงานแก้บน และในงานแก้บนนั้นนิยมรับโนรามาเล่นฉลอง การบนบานก็จะให้ของมีค่า หายากเป็นเครื่องพลีแก้บน เช่น วัวหรือควายเขาทอง ( เมื่อแก้จริงก็จัดฆ่าวัวควายธรรมดาแต่เอาแหวนหรือกำไลทองมาสวมเขา เอาเคล็ดเท่านั้น )

นางนกเหวก
        คือน้อง เหอ …… คือนางนกเหวก  บินสูงเทียมเมฆ  ข้ามเขาสาคร  หัวปีกลาย ลาย  
            พี่ชายไว้ทำหัวหมอน  ข้ามเขาสาคร  หัวหมอนนางนกเหวก …… เหอ ………
ศัพท์    นกเหวก    =  นกการะเวก    

นอน
นอนเสีย น้องนอน ……… เหอ ……….  หว่างบ้านเมืองคอนเขาไม่วุ่น  ปีนี้ว่าสนุก ปีหน้ามันสนุกยิ่งหวา   เงินทองเสื้อผ้า ไม่พักหามันมาเอง เหอ ……………..
ศัพท์    หว่าง =  ระหว่าง  ยิ่งหวา = ยิ่งกว่า    

วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2555

ตัวอย่าง TOK เรื่อง ปัจจัยใดบ้างที่บ่งชี้ว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่เจริญงอกงามและพัฒนาการได้ตลอดเวลา

ปัจจัยใดบ้างที่บ่งชี้ว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่เจริญงอกงามและพัฒนาการได้ตลอดเวลา
ซึ่งเป็นสาเหตุให้ภาษาไทยเป็นภาษาที่ไม่ตายเหมือนบางภาษา

สภาพปัญหา / ที่มา
             ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล จนกระทั่งสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงประดิษฐ์คิดค้นอักษรไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๘๒๘ และบันทึกไว้ตามศิลาจารึกต่างๆ ต่อมาได้มีวิวัฒนาการทางด้านภาษาและการใช้ภาษามาโดยตลอด แสดงให้เห็นว่าชนชาติไทยมีภาษาเป็นของตนเองมาแต่โบราณกาล คงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่แสดงความเป็นอารยประเทศ ความเจริญก้าวหน้าและความเจริญงอกงามยั่งยืน
นอกจากนี้ภาษาไทยจะมีความแตกต่างจากภาษาอื่นๆ ทั่วโลก คือ การใช้ถ้อยคำสำนวนไทยและการใช้ถ้อยคำราชาศัพท์ การรักษาและการถ่ายทอดวัฒนธรรมไทยโดยผ่านภาษาไทยมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันภาษาไทยและการใช้ภาษาไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาพแวดล้อมและสังคมโลก ที่มีการหลั่งไหลของวัฒนธรรมและภาษาต่างๆ ทั้งเด็ก เยาวชน ผู้นำ และบุคคลที่เกี่ยวข้องในสังคมไทย  การเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยเป็นธรรมชาติของภาษา จึงมีการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติมาโดยตลอด เช่น ศัพท์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีศัพท์ใหม่คำว่า "เหวง" ที่ใช้ความหมายถึงลักษณะการพูดที่ไม่รู้เรื่อง

วัตถุประสงค์ของการรายงาน
1.            เพื่อศึกษาถึงข้อบ่งชี้ว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่เจริญงอกงามและพัฒนาการได้ตลอดเวลา
2.            เพื่อรู้ถึงสภาพความเป็นจริงของการใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสาเหตุปัจจุบันที่ทำให้ภาษาไทยไม่ตายไม่ตายเหมือนบางภาษา



ประโยชน์ของการรายงานหรือผลที่คาดว่าจะได้รับ
1.      ทำให้เกิดความเข้าใจถึงปัจจัยที่บ่งชี้ว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่เจริญงอกงามและพัฒนาการได้ตลอดเวลา
2.      ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้ภาษาไทยไม่ตายเหมือนบางภาษา
3.      สามารถรู้ถึงสภาพความเป็นจริงของการใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน และป้องกันการใช้ภาษาไทยผิดเพี้ยนได้

ขอบเขตของการรายงาน
-                   ข้อบ่งชี้ว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่เจริญงอกงามและพัฒนาการได้ตลอดเวลา
-                   รู้ถึงสาเหตุที่ทำให้ภาษาไทยไม่ตายเหมือนบางภาษา
-          สามารถรู้ถึงสภาพความเป็นจริงของการใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน และป้องกันการใช้ภาษาไทยผิดเพี้ยนได้

กำหนดวิธีการที่นักเรียนใช้ในการศึกษาค้นคว้า และ วัน/เดือน/ปี
ระยะเวลา         4 - 6  กันยายน  2554
-                   4    กันยายน  2554            ค้นคว้าข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต
-                   5    กันยายน  2554                        รวบรวมข้อมูล  วิเคราะห์ข้อมูล และสรุปผล
-                   6    กันยายน  2554                        จัดพิมพ์รายงาน

กำหนดแหล่งข้อมูลที่นักเรียนใช้ในการศึกษาค้นคว้า
            จากการค้นคว้าทางอินเทอร์เน็ต
สถานที่
-                   ค้นคว้าข้อมูลจากบ้าน
-                   ร้านอินเทอร์เน็ต

บันทึกการศึกษาค้นคว้าและการสืบค้นข้อมูล
                สรุปผลการศึกษาค้นคว้าข้อมูล
            จากศึกษาถึงปัจจัยที่บ่งชี้ว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่เจริญงอกงามและพัฒนาการได้ตลอดเวลานั้น ทำให้ทราบว่า ภาษาไทย เป็นภาษาที่ยังไม่ตาย กล่าวคือ ยังเป็นภาษาที่มีคนพูดกันอยู่ จึงยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกยุคทุกสมัย เหมือนภาษาอื่นๆ ที่ยังไม่ตาย อีกทั้งการยืมคำภาษาต่างประเทศมาใช้ในภาษาไทยทำให้ภาษามีความเจริญงอกงามและมีคำใช้มากขึ้น ลักษณะเช่นนี้ไม่เป็นการเสียหายประการใด ทั้งนี้เพราะมีการติดต่อระหว่างประเทศทั้งทางการทูต การค้าและวิทยาการต่างๆ มีการรับความรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งการถ่ายทอดวัฒนธรรมและศาสนา จึงมีคำภาษาต่างประเทศในภาษาไทยหลายภาษา ได้แก่ ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาเขมร ภาษาจีน คำชวา คำมลายู คำภาษาอังกฤษ คำฝรั่งเศส คำโปตุเกส คำภาษาอาหรับ เป็นต้น
            ดังนั้นปัจจัยที่บ่งชี้ว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่เจริญงอกงามและพัฒนาการได้ตลอดเวลานั้น จึงสามารถสรุปได้ ดังนี้
1.            เป็นภาษาที่มีการพูดกันอยู่ จึงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตลอดเวลา ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน
2.            มีการยืมคำจากภาษาต่างประเทศมาใช้ในภาษาไทย หลายภาษา ได้แก่ ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาเขมร ภาษาจีน คำชวา คำมลายู คำภาษาอังกฤษ คำฝรั่งเศส คำโปตุเกส คำภาษาอาหรับ เป็นต้น
3.            การเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยนั้นเป็นธรรมชาติของภาษา จะเห็นได้ว่ามีการเลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เช่น คำว่า "กุ" ซึ่งหมายถึงการสร้างเรื่องที่ไม่เป็นจริงให้ดูเป็นเรื่องจริง ก็ไม่ได้เป็นศัพท์ที่เกิดมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ แต่ศัพท์นี้มีที่มาจากชื่อของนักหนังสือพิมพ์ชื่อดังเมื่อศตวรรษที่แล้ว ที่มีพฤติกรรมเช่นนั้น
            ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นข้อบ่งชี้ว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่เจริญงอกงามและพัฒนาการได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสาเหตุให้ภาษาไทยเป็นภาษาที่ไม่ตายเหมือนบางภาษา เช่นภาษาละติน ซึ่งปัจจุบันไม่มีคนใช้สื่อสารกันแล้ว
            อภิปรายผลการศึกษาค้นคว้าข้อมูล
            ความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่บ่งชี้ว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่เจริญงอกงามและพัฒนาการได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสาเหตุให้ภาษาไทยเป็นภาษาที่ไม่ตายเหมือนบางภาษานั้น จะเห็นได้ว่าจากอดีตถึงปัจจุบัน ภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด เห็นได้จากจารึกในสมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา เรื่อยจนมาถึงปัจจุบัน การใช้ภาษาได้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม การดำรงชีวิต และการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศ อีกทั้งคำศัพท์บางคำยังเกิดจากการสร้างคำใหม่ๆมาจากเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นๆ จนมีคนเคยพูดไว้ว่า ภาษาไทยนั้นดิ้นได้  ในหนึ่งคำอาจมีหลายความหมาย แล้วแต่จะนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้การใช้ภาษาไทยไม่ตายตัว ไม่เหมือนกับภาษาละตินซึ่งบังคับการใช้ ทั้งรูปลักษณะประโยค โครงสร้าง ความหมายของคำนั้นตายตัว ทำให้ในปัจจุบันไม่มีใครใช้กันแล้ว แต่สิ่งที่ควรระวังในปัจจุบัน คือ การใช้ภาษาไทยของวัยรุ่นนั้นออกจะมีการใช้คำและประโยคที่เพี้ยนไปจากเดิม เช่นพูดโดยไม่มีคำควบกล้ำ ตัดทอนคำออก ใช้คำสั้นๆในการสื่อสาร ดังนั้นจึงควรใส่ใจกับการใช้ภาษาไทยในด้าน การอ่านออกเสียงและการเขียนให้ถูกต้อง ฝึกฝนและอบรมสั่งสอน เน้นย้ำเอาใจใส่และให้ความสำคัญให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเป็นความเคยชินและติดเป็นนิสัยอันจะเป็นเหตุให้การใช้ภาษาไทยผิดเพี้ยนขยายเป็นวงกว้างไปในที่สุด













อ้างอิง
http://www.prakan.ac.th/Link-Data/e-learning-49/e-learning/page3.htm
http://5322site.exteen.com/20110122/entry-6
http://abp-at-bdz.exteen.com/20110729/entry
       http://dekisugi.net/archives/2124